ฝีดาษวานร (Mpox) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มีต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกา โดยพบครั้งแรกในลิงทดลองเมื่อปี 2501 และพบการติดเชื้อในมนุษย์ครั้งแรกในปี 2513 ที่ประเทศคองโก ชื่อฝีดาษวานรอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคที่พบเฉพาะในลิง แต่ความจริงแล้วสัตว์ฟันแทะหลายชนิดในแอฟริกาเป็นพาหะของโรคนี้
การระบาดครั้งใหญ่นอกทวีปแอฟริกาเกิดขึ้นในปี 2565 ทำให้ทั่วโลกตื่นตัวและให้ความสนใจกับโรคนี้มากขึ้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การระบาดของฝีดาษวานรเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern – PHEIC) ในเดือนกรกฎาคม 2565
สาเหตุและการติดต่อ
ฝีดาษวานรเกิดจากเชื้อไวรัส Mpox virus ซึ่งอยู่ในตระกูล Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสที่ก่อโรคฝีดาษในมนุษย์ การติดต่อสามารถเกิดได้หลายทาง
- การสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น การถูกกัด หรือการสัมผัสของเหลวจากร่างกายสัตว์
- การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเฉพาะการสัมผัสกับผื่นหรือแผลของผู้ติดเชื้อ
- การสัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน
- การแพร่กระจายผ่านละอองฝอยจากระบบทางเดินหายใจในกรณีที่สัมผัสใกล้ชิดเป็นเวลานาน
อาการและการวินิจฉัย ฝีดาษวานร
ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 5-21 วัน โดยทั่วไปมักมีอาการดังนี้
- มีไข้ หนาวสั่น
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- อ่อนเพลีย
- ผื่นหรือตุ่มน้ำตามร่างกายโดยเฉพาะบริเวณใบหน้า มือ และเท้า
ผื่นจะพัฒนาจากจุดแดงเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำ และสุดท้ายกลายเป็นสะเก็ดแห้งหลุดลอกไป กระบวนการนี้อาจใช้เวลา 2-4 สัปดาห์
การวินิจฉัย ทำได้โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจPCRจากตัวอย่างผื่นหรือสารคัดหลั่ง
การรักษาและการป้องกัน
การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ บรรเทาปวด และดูแลแผล อย่างไรก็ตาม มียาต้านไวรัสบางชนิด เช่น Tecovirimat ที่อาจใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรง
การป้องกันทำได้โดย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อหรือสัตว์ที่อาจเป็นพาหะ
- รักษาสุขอนามัยล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
- สวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล(PPE)เมื่อต้องดูแลผู้ป่วย
- แยกตัวผู้ป่วยและทำความสะอาดสิ่งของที่ผู้ป่วยสัมผัส
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร
อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- สถานะตรวจไม่เจอ (Undetectable) ทำอย่างไร?
- ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Virus) สาเหตุหลักของมะเร็งตับ
ฝีดาษวานร เป็นโรคอุบัติใหม่ แม้จะไม่รุนแรงเท่าโรคฝีดาษในอดีต แต่ก็สร้างผลกระทบทั้งทางสุขภาพและสังคม การเข้าใจธรรมชาติของโรค วิธีการป้องกัน และการรักษาที่ถูกต้อง จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือระหว่างประเทศและการให้ความรู้แก่ประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคนี้
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฝีดาษวานรได้ที่ : https://lovefoundation.or.th/mpox/