การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลก หนึ่งในการติดเชื้อดังกล่าวคือ “ซิฟิลิส” การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ซึ่งอาจมีผลร้ายหากไม่ได้รับการรักษาให้ถูกต้อง การทำความเข้าใจเกี่ยวกับซิฟิลิส รวมถึงสาเหตุ อาการ การวินิจฉัย และการรักษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการป้องกันการแพร่เชื้อและการจัดการผลกระทบของมัน ในบทความนี้ เราจะศึกษาข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับซิฟิลิสเพื่อให้คุณได้รับภาพรวมอย่างละเอียด
สาเหตุของ ซิฟิลิส
ซิฟิลิส (Syphilis) เกิดจากแบคทีเรีย ทรีโปเนมาพาลลิดัม (Treponema pallidum) การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือทางปาก เชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลเล็กน้อยหรือแผลของเยื่อบุตาอื่น ๆ ทั้งนี้ ซิฟิลิสสามารถติดต่อผ่านทางแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์ หรือระหว่างการคลอดได้ การติดเชื้อกรณีนี้จะเรียกว่า ซิฟิลิสโดยกำเนิด
อาการของ ซิฟิลิส
ซิฟิลิสใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ก่อนที่จะเริ่มมีแสดงอาการ โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 หลังจากได้รับเชื้อไปประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ในผู้ชายจะเริ่มมีแผลริมแข็ง (Chancre) บริเวณปลาย หรือลำอวัยวะเพศ ไม่เจ็บ ในผู้หญิง แผลอาจจะซ่อนอยู่ในช่องคลอด และในบางคนจะพบแผลบริเวณทวารหนักได้ ผู้ป่วยหลายรายไม่ทราบว่าเคยมีแผลลักษณะนี้มาก่อน เนื่องจากแผลจะสามารถหายได้เองในระยะเวลาไม่นาน
- ระยะที่ 2 หลังจากแผลริมแข็งหายไป จะเกิดอาการของซิฟิลิส ในระยะที่ 2 โดยเชื้อซิฟิลิสได้เข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้วเข้าไปในกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการทางร่างกายอื่นๆ ได้แก่ ไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ มีผื่น ซึ่งมักจะพบบริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า สามารถพบผื่นบริวเณแขนขาและลำตัวได้เช่นกัน
- ระยะแฝง ระยะนี้เป็นระยะที่ไม่มีอาการใดๆ ซึ่งกินระยะเวลานานได้เป็นปี โดยเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยเป็นซิฟิลิส ระยะที่ 2 แล้วไม่ได้รับการรักษา โดยส่วนใหญ่จะตรวจพบขณะมาตรวจเลือด
- ระยะที่ 3 ระยะนี้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่อวัยวะภายใน ผู้ป่วยอาจมีอาการ ตาบอด หูหนวก มีอาการพิการทางสมอง มีโรคหัวใจ เส้นเลือด ตับ กระดูก และข้อต่อต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อนานหลายปีโดยไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การวินิจฉัยของซิฟิลิส
แพทย์จะซักประวัติผู้ป่วย อาการ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วย พฤติกรรมด้านเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการตรวจร่างกายในเบื้องต้น ซึ่งแพทย์จะตรวจดูบริเวณอวัยวะเพศหรือส่วนอื่นของร่างกาย ว่าพบแผลหรือความผิดปกติใด ๆ ที่อาจเกิดจากซิฟิลิส ก่อนจะสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การตรวจเลือด | การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ |
เป็นการตรวจหาเชื้อที่อยู่ในกระแสเลือดของผู้ป่วย โดยในบางรายที่ผลการตรวจออกมาว่ามีการติดเชื้อ อาจต้องมีการตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากการตรวจครั้งแรก เพื่อช่วยยืนยันการติดเชื้อที่ทำให้เกิดซิฟิลิส | ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดแผลหรือผื่นตามร่างกาย แพทย์อาจมีการเก็บตัวอย่างเชื้อบนผิวหนังหรือน้ำเหลืองจากแผลไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ หาเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดซิฟิลิส |
ภาวะแทรกซ้อนของซิฟิลิส
ซิฟิลิสหากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่มักพบได้แก่ ความผิดปกติของระบบประสาท ระบบไหลเวียนโลหิต หลอดเลือดในสมองแตก เยื่อหุ้มไขสันหลังอักเสบ ความจพเสื่อม การได้ยินและการมองเห็นผิดปกติ นอกจากนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นซิฟิลิส มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เอชไอวี ได้มากถึง 2 – 5 เท่าของคนทั่วไป
การป้องกัน ซิฟิลิส
การป้องกันซิฟิลิสที่ดีที่สุด คือ การลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อ โดยเฉพาะการได้รับเชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์ จึงควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้ รวมไปถึงควรมีการป้องกันก่อนการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งโดยการสวม “ถุงยางอนามัย” ซึ่งรวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางปากด้วย หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันผู้อื่น หญิงมีครรภ์ควรได้รับการตรวจเลือดคัดกรองซิฟิลิสในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 8 – 12 ของการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อไปยังทารก
การรักษาของซิฟิลิส
ซิฟิลิสเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากเข้ารับการรักษาในระยะต้นๆ โดยแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เพนนิซิลลิน เพื่อกำจัดเชื้อซิฟิลิส เป็นเวลา 1 – 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ระยะเวลาการรักษาขึ้นกับระยะของโรคที่เป็นด้วย แพทย์จะแนะนำให้พาคู่นอนเข้ามารับการตรวจ และรักษาร่วมด้วย และหลังจากรักษาไปแล้ว 6 เดือน ต้องตรวจซ้ำในทุกๆ ปี เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
ขอบคุณข้อมูล : Ch9airport, Pobpad
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม
หากคุณมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อซิฟิลิส คุณควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันที ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการใด ๆ ก็ตาม เพราะการตรวจพบซิฟิลิสตั้งแต่ระยะต้นๆ คุณจะได้รับการรักษาที่เหมาะสม และหยุดการลุกลามของโรคได้