หลายคนสงสัยว่าถ้าหากติด กามโรค หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ขึ้นมาแล้ว จะมีอาการประมาณไหนที่จะชี้ชัดไปได้เลยว่าเป็นโรคจริงๆ กามโรค จริงๆ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น โรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือการทำรักทางปาก (Oral Sex) ก็ตาม ส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านการสัมผัสผิวหนัง บาดแผลที่มีเชื้อ เลือด หรือสารคัดหลั่ง ซึ่งในบางครั้งอาจถูกถ่ายทอดมาจากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีเชื้อกามโรค และทำให้เชื้อถูกส่งต่อไปยังทารกน้อยได้
กามโรค มีอาการแบบไหนบ้าง
คนที่ติดเชื้อกามโรค อาจพบอาการที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ชนิดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ได้รับเชื้อมา และมักจะพบรอยโรคบริเวณอวัยวะเพศ แล้วค่อยๆ ลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายต่อไปหากไม่ได้ทำการรักษา ซึ่งบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ ปรากฏให้เห็นเลย จึงเป็นการยากที่เจ้าตัวจะรู้ว่าติดเชื้อเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ อาการที่ถูกตรวจพบบ่อยๆ และสามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นกามโรค ได้แก่
- อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องเสีย
- ต่อมน้ำเหลืองบวมโตบริเวณขาหนีบและลำคอ
- ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- พบตุ่มหรือแผลขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก
- รู้สึกเจ็บหรือแสบเมื่อปัสสาวะ หรือเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- เพศหญิง มีอาการตกขาวผิดปกติ กลิ่นเหม็น และมีเลือดออกที่ช่องคลอด
- เพศชาย มีหนองออกมาจากปลายองคชาติ หรือมีตุ่มแผลที่หนังหุ้มปลาย
- ระคายเคืองผิวบริเวณอวัยวะเพศอย่างมาก และมีผื่นขึ้นตามมือ แขน และเท้า
ซึ่งหากพบว่ามีอาการ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทันที เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็วและทำให้หายขาดจากโรคได้ง่าย
สาเหตุที่ทำให้ติดกามโรค
กามโรค เกิดจากเชื้อที่ติดต่อกันผ่านเซ็กส์ ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อปรสิต นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคชนิดอื่นได้ เช่น โรคบิดจากเชื้อชิเกลล่า โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไกอาร์เดีย เป็นต้น โดยปัจจัยเสี่ยงที่ถูกพบว่าทำให้ติดโรคได้มากที่สุด มีดังนี้
- มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้สวมถุงยางอนามัยได้ทุกครั้งที่มีกิจกรรมทางเพศ
- ติดเชื้อจากแม่ที่เป็นกามโรค สู่ลูกน้อยในครรภ์ (พบได้น้อยในปัจจุบัน)
- มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น กรณีผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด
- มีคู่นอนที่มีประวัติการเจ็บป่วยด้วยกามโรค และอาจจะยังรักษาไม่หายขาด
- มีคู่นอนหลายคน และคู่นอนนั้นไม่อาจทราบได้ว่ามีเชื้อกามโรคใดอยู่หรือไม่
- สวมถุงยางอนามัยแล้วเกิดการหลุดรั่วหรือฉีกขาดในระหว่างที่กำลังสอดใส่อยู่
- ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ทางทวารหนักและไม่ได้สวมถุงยางอนามันป้องกัน
- เลือกขนาดไม่เหมาะสมกับอวัยวะเพศของตัวเอง และใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง
- ออรัลเซ็กส์ หรือทำรักทางปาก โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางป้องกันการติดเชื้อ
- ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์ขาดสติ จึงทำให้ไม่แน่ใจว่าได้รับการป้องกันหรือไม่
จะรู้ได้ยังไงว่าเป็นกามโรคไหน
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จำเป็นจะต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยจากการซักประวัติผู้ป่วยเบื้องต้น และเริ่มตรวจเลือด หรือเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งต่างๆ เพื่อนำไปตรวจเพิ่มเติมในห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละโรค แต่หลักๆ สำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกันนั้น ควรได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสเอชไอวีทุกคน เพราะถือเป็นโรคที่มีความเสี่ยงจะได้รับเชื้อมากที่สุด
สำหรับคู่สามีภรรยาที่ต้องการมีบุตร ก็ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ และทำการตรวจกามโรคก่อนด้วย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกน้อยที่อาจจะเกิดมาในอนาคตติดโรคไปด้วย ผู้หญิงควรตรวจภายใน เพื่อหาความผิดปกติเกี่ยวกับปากมดลูก ว่ามีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือหูดที่อวัยวะเพศหรือไม่ รวมไปถึง การตรวจหาเชื้อหนองในเทียม หนองในแท้ ซิฟิลิส หรือเริม โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอดเพื่อนำไปตรวจด้วย
กามโรค รักษาได้หรือไม่
เชื้อกามโรคส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ บางโรคก็สามารถควบคุมไว้ให้ไม่ลุกลามเป็นโรคร้ายใหญ่โต ซึ่งหากตรวจพบโรคไหน ก็ควรปรึกษาแพทย์ และปฏิบัติตามวิธีการรักษาอย่างเคร่งครัด เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะใช้วิธีรักษาหลายแบบ เช่น การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส และการฉีดวัคซีน ใจความสำคัญนอกจากตรวจพบไวแล้ว การรักษาที่ถูกวิธีกับแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงการชวนคู่นอนของคุณเองมาทำการตรวจและรักษาไปพร้อมๆ กันด้วย จะทำให้ความเสี่ยงที่จะเป็นกามโรคซ้ำลดลงได้มาก และลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้
ป้องกันกามโรคกันเถอะ!
วิธีที่ดีในการป้องกันกามโรค คือการที่ไม่ทำให้ตัวเองมีความเสี่ยงกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เลย แต่บางครั้งก็อาจเกิดเหตุสุดวิศัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด เราจึงมีคำแนะนำดีๆ มาให้คุณ ดังนี้
- หากกำลังรักษากามโรคอยู่ ควรงดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนจนกว่าจะหายขาดเรียบร้อยแล้ว
- มีคู่นอนคนเดียว หรือคู่นอนประจำที่รู้ผลเลือดและได้รับการตรวจเชื้อกามโรคเป็นประจำ
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์และเลือกใช้เจลหล่อลื่นให้ถูกต้องตามชนิดของถุงยาง
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดและของมึนเมาในขณะที่กำลังมีเพศสัมพันธ์ เพราะจะทำให้ขาดสติได้
- ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา และกามโรคต่างๆ เพื่อช่วยในการสังเกตอาการของตัวเองได้อย่างเข้าใจ และแก้ไขปัญหาที่อาจมาจากความเสี่ยงได้ทันถ้วงที
- ฉีดวัคซีนสำหรับป้องกันกามโรค กรณีที่ตรวจแล้วยังไม่พบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะโรคไวรัสตับอักเสบบี (HBV) และไวรัสรักษาเชื้อเอชพีวี (HPV)
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
ถึงแม้ว่าจะสามารถติดต่อกันได้ง่ายผ่านเซ็กส์ที่ไม่สวมถุงยางอนามัย แต่หากคุณได้เรียนรู้แล้วว่า การป้องกันกามโรคต่างๆ นั้นทำได้ด้วยการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย รวมไปถึงกลุ่มอาการต่างๆ ที่หาอ่านได้ตามเว็บไซต์เพศศึกษาและการแพทย์ทั่วไป จะช่วยให้คุณมีความระมัดระวังไม่ให้ตัวเองและคนที่คุณรักเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ตลอดไปครับ