เริม หรือ โรคเริม นั้นถ้าติดเชื้อแล้วจะมีเชื้อนั้นไปตลอดชีวิต เนื่องจากไวรัสยังคงอยู่ในร่างกายถึงแม้จะไม่แสดงอาการ ไวรัสสามารถแสดงอาการได้เป็นระยะ นำไปสู่อาการที่มีลักษณะเป็นแผลพุพอง อาการนี้สามารถกระตุ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่ ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
โรคเริม เกิดจากอะไร?
เริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อ Herpes simplex virus หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า Herpes ซึ่งมี 2 สายพันธุ์ คือ Herpes simplex virus ชนิด 1 (HSV-1) และ Herpes simplex virus ชนิด 2 (HSV-2) เมื่อได้รับเชื้อเริมครั้งแรกจาก การสัมผัสโดยตรงจากผู้ที่เป็นโรคผ่านทางน้ำลาย หรือรอยโรค อาจแสดงอาการหรือไม่ก็ได้ โดยเชื้อไวรัสจะเข้าทางผิวหนัง และไปสะสมอยู่ที่ปมประสาท เมื่อมีปัจจัยมา กระตุ้น เชื้อไวรัสก็จะออกมาตามเส้นประสาทไปถึงปลายประสาททำให้เกิดรอยโรคที่ผิวหนัง หรือเยื่อบุ เริมสามารถเกิดได้หลายตำแหน่ง เช่น บริเวณอวัยวะเพศหญิง ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก อวัยวะเพศชาย ถุงอัณฑะ ก้น ต้นขาด้านใน ริมฝีปาก ปาก ลำคอ
คุณจะติดเชื้อเริมได้อย่างไร?
การติดเชื้อเริมไม่จำเป็นต้องผ่านการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น บางครั้งคุณสามารถติดเชื้อเริมผ่านวิธีอื่นได้ เช่น ผู้ปกครองที่มีรอยโรคเริมจูบลูกที่ปาก เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ผู้คนจำนวนมากที่เคยเป็นเริมที่ปากมักจะเคยเป็นตั้งแต่วัยเด็ก สำหรับหญิงตั้งครรภ์ก็มีโอกาสแพร่เชื้อเริมไปสู่ลูกขณะคลอดลูกได้ แต่ก็พบได้น้อย นอกจากนี้คุณยังสามารถแพร่เชื้อเริมไปที่บริเวณอื่นๆ ของร่างกายได้ ถ้าหากมีการสัมผัสกับแผลตุ่มพอง ตุ่มน้ำ แล้วนำไปสัมผัสที่บริเวณอื่นต่อโดยไม่ได้ล้างมือก่อน เช่น ปาก อวัยวะเพศ ตา วิธีนี้ยังเป็นช่องทางในการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นด้วย
โรคเริม มีอาการอย่างไร?
อาการของเริมสามารถเป็นได้หลายแบบขึ้นอยู่กับว่าเป็นการเกิดโรคครั้งแรก หรือว่าเคยเป็นมาก่อน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเริ่มเป็นครั้งแรกในช่วงวัยเด็ก หรือวัยรุ่น โรคเริมที่เป็นครั้งแรกจะมีระยะเวลาฝักตัวประมาณ 3 – 7 วัน หลังได้รับเชื้อ ซึ่งส่วนมากมักไม่มีอาการ
แต่ถ้ามีอาการก็จะรุนแรงจะมีอาการดังนี้
- พบกลุ่มตุ่มน้ำแตกเป็นแผลตื้นๆ
- มีอาการเจ็บ ปวด แสบร้อนบริเวณรอยโรค
- มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- อาจมีต่อมน้ำเหลืองโต
โดยแผลจะค่อยๆ แห้ง ตกสะเก็ด และหายในระยะเวลาประมาณ 2 – 6 สัปดาห์
โรคเริมสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ แต่จะมีอาการน้อยกว่าเป็นครั้งแรก ขนาดตุ่มจะเล็กกว่า จำนวนเม็ดก็น้อยกว่าและไม่มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เป็นไข้ ผู้ป่วยอาจมีอาการนำ เช่น คัน ปวดแสบร้อน บริเวณที่จะเป็น หลังจากนั้นก็จะเกิดตุ่มน้ำขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิม
เริม กับ ร้อนใน แตกต่างกันอย่างไร?
เริมไม่เหมือนกับร้อนใน ร้อนในเป็นตุ่มสีแดง หรือขาวที่เจ็บและเกิดขึ้นด้านในปาก โดยปกติแล้วร้อนในมักจะเกิดที่เหงือก ด้านในของริมฝีปาก หรือแก้ม หรือบนลิ้น และไม่ได้ทำให้เกิดเป็นตุ่มน้ำ หรือเป็นสะเก็ด และร้อนในนั้นไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ Herpes และไม่ใช่โรคติดต่อ
การรักษา โรคเริม
แม้ว่าจะไม่มียารักษาเริมให้หายขาดได้ในปัจจุบัน แต่ยังมีวิธีในการจัดการกับอาการที่เกิดขึ้น ยารักษาโรคเริมจะช่วยให้อาการหายได้เร็วขึ้น และ ช่วยลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ ในขณะที่กำลังมีอาการแผลตุ่มพอง ตุ่มน้ำ แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาให้คุณเพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น คุณสามารถบรรเทาอาการปวดได้โดยวิธี ดังนี้
- อาบน้ำอุ่น
- พยายามดูแลให้บริเวณอวัยวะเพศแห้ง ไม่อับชื้น เพราะความชื้นจะทำให้แผลหายช้า
- สวมเสื้อผ้านุ่ม และหลวมๆ
- ประคบเย็นบริเวณแผล (เช่น ใช้ถุงเจลประคบเย็น)
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน (aspirin), ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือ พาราเซตามอล (paracetamol)
จองตรวจ เริม หรือตรวจเอชไอวีง่ายๆใกล้บ้านคุณ ได้ที่นี่ > > https://love2test.org/th/clinic
อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจที่นี่
โรคเริม เป็นการติดเชื้อที่พบได้บ่อย ติดเชื้อได้ง่าย และสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสกันกับผู้ติดเชื้อ แม้ว่าไม่มีทางรักษาโรคเริมให้หายขาด แต่การรักษาโดยใช้ยาต้านไวรัส และการใช้ยารักษาอาการปวด การประคบเย็นที่บริเวณที่ติดเชื้อ หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดหรือเปรี้ยวที่อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส และสามารถบรรเทาอาการได้ดี