โรคหนองในเทียม (Non-gonococcal urethritis: NGU) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คลามัยเดีย ทราโคมาทิส (Chlamydia trachomatis) พบได้บ่อยในกลุ่มวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน บางรายอาการของโรคจะไม่แสดงให้เห็นชัด แต่สามารถแพร่กระจายไปติดกับผู้อื่นต่อได้หากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน
โรคหนองในเทียมติดต่อกันได้อย่างไร ?
โรคหนองในเทียมแพร่กระจายคล้ายโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ดังนี้
- มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะเป็นทางอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปาก
- การสัมผัสกับเชื้อหนองในเทียมโดยตรง เช่น การใช้มือสัมผัสกับหนองแล้วไปขยี้ตา
- แม่ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อสู่ลูกน้อยระหว่างการคลอด
โรคหนองในเทียม อาการเป็นอย่างไร ?
อาการของหนองในเทียมอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังต่อไปนี้
ผู้ชาย | ผู้หญิง |
มีหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศ | ตกขาวผิดปกติ อาจเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือมีกลิ่นเหม็น |
แสบร้อน หรือคันที่อวัยวะเพศ | ปัสสาวะแสบขัด |
ปัสสาวะแสบขัด | ปวดท้องน้อย |
เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ | เลือดออกระหว่างรอบเดือน |
อัณฑะบวม | เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ |
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองในเทียม
โรคหนองในเทียมหากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น
- ภาวะมีบุตรยาก
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก
- โรคข้ออักเสบเรื้อรัง
- โรคอักเสบในอุ้งเชิงกราน
โรคหนองในเทียมการวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคหนองในเทียม โดยพิจารณาจาก
- อาการ: แพทย์จะซักประวัติอาการของผู้ป่วย เช่น มีตกขาวผิดปกติ ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้องน้อย เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกผิดปกติ
- การตรวจร่างกาย: แพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วย เช่น ตรวจภายในช่องคลอด ตรวจอวัยวะเพศชาย ตรวจทวารหนัก
- การตรวจหาเชื้อ: แพทย์จะเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากบริเวณที่มีการร่วมเพศเพื่อส่งตรวจหาเชื้อหนองในเทียม ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้
- การเก็บตัวอย่างเชื้อ: ใช้ไม้พันสำลีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากบริเวณปากมดลูก ปลายท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือลำคอ
- การทดสอบปัสสาวะ: เก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไปตรวจ ควรเป็นปัสสาวะที่ทิ้งระยะจากการปัสสาวะครั้งล่าสุด 1–2 ชั่วโมง
ผลตรวจของโรคหนองในเทียม
- ผลตรวจเป็นบวก: ผู้ป่วยติดเชื้อหนองในเทียม แพทย์จะสั่งยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา
- ผลตรวจเป็นลบ: ผู้ป่วยไม่ได้ติดเชื้อหนองในเทียม แพทย์อาจตรวจหา โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) อื่นๆ เพิ่มเติม
การรักษา โรคหนองในเทียม
หนองในเทียมสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แพทย์จะสั่งยาให้คุณตามอาการ และความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปแล้ว ยาที่ใช้รักษาหนองในเทียมมีดังนี้
- อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin)
- ดอกซี่ไซคลีน (Doxycycline)
ข้อควรปฏิบัติระหว่างรักษา
- คุณต้องทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง แม้จะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม
- ห้ามหยุดยาเอง เพราะอาจทำให้เชื้อดื้อยา และรักษาได้ยากขึ้น
- คู่นอนของคุณควรได้รับการตรวจ และรักษาด้วย แม้จะไม่มีอาการก็ตาม
- งดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายจากโรค
วิธีป้องกัน โรคหนองในเทียม
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่รู้จัก
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีหนองบริเวรอวัยวะเพศ
- หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- รักษาความสะอาดร่างกาย และอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ
- ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
หากคุณมีความเสี่ยงต่อการติดโรคหนองในเทียม สิ่งสำคัญคือต้องไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะสามารถรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพหากได้รับการวินิจฉัย และรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยลดความเสี่ยงสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง