โรคหนองใน เป็นอีกหนึ่ง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน จึงสามารถรับเชื้อได้โดยง่ายแบบไม่ทันตั้งตัว และบ่อยครั้งผู้ป่วยมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหนองใน อาการจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน? โรคหนองในเป็นแล้วรักษาได้หรือไม่? เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหนองในมากขึ้น
โรคหนองใน (GONORRHOEA) คืออะไร?
โรคหนองใน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื้อว่า (ไนซีเรีย โกโนเรีย) Neisseria gonorrhea สามารถติดต่อได้ทั้งชาย และหญิงรวมทั้งทารกแรกเกิด โรคหนองในสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นหมัน หรืออาการอักเสบในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น โรคหนองในสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
- โรคหนองในแท้
- โรคหนองในเทียม
ระยะฟักตัวของโรค
หลังจากที่ได้รับเชื้อ ก็มักจะแสดงอาการภายใน 2 – 10 วัน แต่โดยทั่วไปแล้วจะแสดงอาการภายใน 5 วัน
สาเหตุของโรคหนองใน
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ ไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria gonorrhoeae) หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า โกโนค็อกคัส (Gonococcus ) ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในน้ำอสุจิและน้ำในช่องคลอด จึงทำให้เชื้อโรคนี้แพร่ผ่านและติดต่อทางการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก
อาการโรคหนองใน
โรคหนองใน ในผู้ชายมีอาการอย่างไร?
- จะมีเมือกสีขาวขุ่น หรือ มีหนองข้นๆ สีเหลือง หรือเขียว หรือขาว ไหลออกมาจากส่วนปลายของอวัยวะเพศ โดยอาจเกิดขึ้นหลังการมีเพศสัมพันธ์
- รอบรูอวัยวะเพศเป็นสีแดง
- เจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ
- มีของเหลวไหลออกมาจากทวารหนัก
- เกิดการอักเสบของหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
- เจ็บคอ คอแห้ง และรู้สึกปวดเมื่อยตามตัว บางรายอาจมีไข้ได้
- เจ็บ บวม หรือฟกช้ำที่ลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง แต่พบไม่บ่อย
- หากไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยไว้นาน เชื้ออาจแพร่กระจายลุกลามสู่อัณฑะเสี่ยงเป็นหมันได้
หนองในในผู้หญิง มีอาการอย่างไร?
- มีหนองที่ช่องคลอด ช่องคลอดอักเสบ
- ปัสสาวะแล้วรู้สึกเจ็บ หรือแสบขัด
- เจ็บบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีของเหลวไหลออกจากทวารหนัก
- มีหนองที่ช่องคอ เจ็บคอ คอแห้ง และรู้สึกปวดเมื่อยตามตัว
- มีตกขาวผิดปกติขับออกมาจากช่องคลอด ลักษณะเป็นน้ำ หรือเส้นบาง ๆ สีออกเขียวหรือเหลือง หรือตกขาวเป็นมูกหนอง มีกลิ่นเหม็น และมีปริมาณมากขึ้น
- เจ็บหรือฟกช้ำบริเวณท้องน้อย แต่พบได้ไม่บ่อย
- มีเลือดออกระหว่างรอบเดือนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ หรือประจำเดือนมามากผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้น้อย
- หากปล่อยไว้นานไม่รีบรักษา เชื้ออาจลุกลามไปสู่มดลูกและท่อรังไข่ เสี่ยงเป็นโรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ รวมไปจนถึงเป็นหมันได้
นอกจากนี้การติดเชื้อหนองในแท้ที่บริเวณอื่น ๆ
เช่น ทวารหนัก ลำคอ ดวงตา หรือข้อต่อก็ย่อมทำให้มีอาการแตกต่างกันไป ดังนี้
- การติดเชื้อที่ทวารหนักจะทำให้รู้สึกไม่สบายบริเวณนี้ เจ็บ หรือมีของเหลวขับออกมาได้
- การติดเชื้อที่ดวงตาสามารถทำให้ระคายเคือง เจ็บ บวมหรือมีของเหลวไหลจากดวงตา
- การติดเชื้อที่ข้อต่อ จะส่งผลให้ข้อต่อที่ติดเชื้อรู้สึกอุ่น บวมแดง และเจ็บมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหวบริเวณดังกล่าว
- การติดเชื้อที่ลำคออาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอและต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
- สามารถแพร่จากหญิงตั้งครรภ์ไปสู่ทารกในขณะที่คลอดออกมาผ่านการสัมผัสเยื่อบุช่องคลอดของมารดา โดยทารกแรกเกิดที่ได้รับผลกระทบมักจะแสดงอาการติดเชื้อที่ดวงตาในช่วง 2 สัปดาห์แรก ซึ่งจะสามารถทำให้ตาของทารกบวมแดง มีของเหลวลักษณะเหนียวข้นคล้ายหนองไหลออกมา หรือถึงขั้นทำให้ทารกตาบอด นอกจากนี้ยังอาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงกับอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตทารกได้
การวินิจฉัยโรคหนองใน
การวินิจฉัยโรคหนองในขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และปริมาณเชื้อหนองใน สามารถวินิจฉัยได้หลากหลายวิธี โดยส่วนใหญ่จะใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างเชื้อจากบริเวณที่อาจมีการติดเชื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างนั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีและไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคหนองในในเพศชายและเพศหญิงอาจมีข้อแตกต่างกัน คือ
- ในเพศหญิง มักจะใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างจากช่องคลอดหรือปากมดลูกระหว่างที่ตรวจภายใน หรือบางกรณีก็อาจมีการเก็บตัวอย่างจากบริเวณท่อปัสสาวะด้วย ทั้งนี้ผู้ป่วยจะขอเก็บตัวอย่างจากภายในช่องคลอดด้วยสำลีหรือผ้าอนามัยแบบสอดด้วยตนเองก็ได้ แต่การตรวจโรคหนองในแท้ในเพศหญิงจะไม่ตรวจโดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะเหมือนการตรวจในเพศชาย
- ในเพศชาย มักจะใช้การตรวจปัสสาวะ หรือเก็บตัวอย่างจากของเหลวที่ถูกขับออกมาจากปลายอวัยวะเพศ ซึ่งผู้ป่วยต้องไม่ปัสสาวะเป็นเวลา 2 ชั่วโมงก่อนหน้าการเก็บตัวอย่าง เนื่องจากการปัสสาวะจะไปล้างเชื้อแบคทีเรียโรคหนองในแท้ ส่งผลต่อความแม่นยำของการวินิจฉัยโรค
- การติดเชื้อบริเวณอื่น ๆ นอกเหนือจากอวัยวะเพศ เช่น ลำคอ หรือทวารหนัก จะใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างจากบริเวณเหล่านี้ และหากผู้ป่วยมีเยื่อบุตาอักเสบ เช่น ตาแดง อักเสบ หรือมีของเหลวไหลออกจากตาก็อาจมีการเก็บตัวอย่างจากของเหลวนี้ส่งตรวจด้วย
โดยการตรวจที่บริเวณคอจะมีความแม่นยำน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ไม่มีการตรวจใดให้ผล 100 % ดังนั้นหากท่านยังคงมีอาการอยู่ ทั้งที่ผลการตรวจทุกอย่างเป็นลบ แนะนำให้มาตรวจติดตามเพื่อประเมินซ้ำอีกครั้ง ในทางกลับกัน หากท่านไม่มีอาการแต่ผลการตรวจเป็นบวก (เนื่องจากคู่นอนของท่านติดเชื้อ) แนะนำให้ท่านรับการรักษาอย่างเร่งด่วน
การรักษา โรคหนองใน
การรักษาจะใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าร้อยละ 95 ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาในกรณีที่ท่านมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ หากไม่สามารถที่จะรับการตรวจเพื่อวินิจฉัย ควรรับยาเพื่อรักษาไปเลย ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว เช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น ท่านอาจจะต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลหรือรับการผ่าตัดแก้ไข โดยจะแบ่งการรักษา ดังนี้
ไม่มีภาวะแทรกซ้อน (UNCOMPLICATED GONORRHOEA)
- ผู้ป่วยหนองในที่อวัยวะเพศ และทวารหนัก สามารถรักษาโดยใช้ยา Ceftriaxone 500 mg แบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 ครั้ง ร่วมกับการรักษาโรคหนองในเทียม ส่วนอีกแบบคือ ยา Cefixime 400 mg ทาน 1 ครั้ง ร่วมด้วยกับการรักษาโรคหนองในเทียมเช่นเดียวกับยาแบบฉีด
- ผู้ป่วยหนองในที่ช่องคอ แพทย์จะใช้ยา Ceftriaxone 500 mg แบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 ครั้ง ร่วมกับการรักษาโรคหนองในเทียม
- ผู้ป่วยหนองในที่เยื่อบุตาวัยผู้ใหญ่ มักใช้ยา Ceftriaxone 1 g ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำ 1 ครั้ง ร่วมกับการรักษาอาการหนองในเทียม ทั้งนี้ผู้ป่วยควรล้างตาด้วยน้ำเกลือปลอดเชื้อให้สะอาดทุกๆ ชั่วโมง จนกว่าหนองบริเวณตาจะแห้งสนิท
มีภาวะแทรกซ้อน (COMPLICATED GONORRHOEA)
- ผู้ป่วยหนองในชนิดมีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ (Local Complicated Gonorrhoea) เช่น เกิดฝีในอวัยวะเพศ ลูกอัณฑะอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด และต่อมต่างๆ บริเวณท่อปัสสาวะอักเสบ จะใช้การรักษาแบบเดียวกับโรคหนองในชนิดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่จะต้องรักษาอย่างน้อย 2 วันขึ้นไปหรือจนกว่าหนองในจะหายดี
- ผู้ป่วยหนองในชนิดมีภาวะแทรกซ้อนแพร่กระจาย (Disseminated Gonococcal Infection) ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยแพทย์ ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในชั้นผิวหนังหรือเยื่อบุ หรือมีภาวะโรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ และมีภาวะเอ็นอักเสบ แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยา Ceftriaxone 1-2 g ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ วันละ 1 ครั้ง หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นก็จะได้รับยาทาน Cefixime 400 mg วันละ 2 ครั้ง
- กรณีผู้ป่วยที่มีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะรักษาโดยใช้ยา Ceftriaxone 1-2 g ฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุก 12 ชั่วโมง ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ แพทย์จะรักษาโดยใช้ยา Ceftriaxone 1-2 g ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ทุก 12 ชั่วโมง และใช้ระยะเวลารักษานานถึง 4 สัปดาห์
ส่วนการรักษาทารกที่ได้รับเชื้อหนองในแท้
เมื่อแรกเกิด หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากมารดาที่เป็นโรคหนองในแท้ แพทย์จะให้ยาหยอดตาเด็กทันทีที่คลอดออกมา เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่หากอาการติดเชื้อพัฒนาขึ้นแล้วจึงรักษาด้วยปฏิชีวนะที่ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็น รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากการได้รับเชื้อหนองในแท้
การป้องกัน โรคหนองใน
- ใช้ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคหนองใน
- ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
- ควรหมั่นตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ