ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Pelvic Inflammatory Disease : PID คือ การติดเชื้อที่ระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง เช่น มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ เยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน ซึ่งมีสาเหตุหลากหลายปัจจัยด้วยกัน แต่มักจะมาจากการมีเซ็กส์ที่ไม่ปลอดภัยเป็นส่วนใหญ่ เช่น โรคหนองในแท้ หรือหนองในเทียมที่บริเวณช่องคลอดและปากมดลูก และหากไม่ได้รับการรักษาจะก่อให้เกิดโรคลุกลามไปยังระบบอื่นๆ บริเวณอวัยวะเพศได้ จากสถิติจะพบในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 18-25 ปีขึ้นไป

อุ้งเชิงกราน คืออะไร

อุ้งเชิงกราน คือส่วนบริเวณช่องท้องของร่างกายที่สามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่เหนือกระดูกเชิงกรานขึ้นไป และส่วนที่อยู่ต่ำกว่ากระดูกเชิงกรานลงมา ส่วนที่อยู่ต่ำกว่านั้นเราเรียกว่า “อุ้งเชิงกราน” ถ้ามองจากภายนอกก็จะเป็นบริเวณท้องน้อยนั่นเอง

สาเหตุที่ทำให้เกิด ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

  • เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย
    • หนองในแท้ (Neisseria Gonorrhoeae) ประมาณ 15-20%
    • หนองในเทียม (Chlamydia Trachomatis) ประมาณ 25-35%
  • ไมโครพลาสมา (Mycoplasma genitalium) ประมาณ 5-10%
  • ซึ่งเชื้อจะเข้าจากช่องคลอด ผ่านปากมดลูก ขึ้นไปในมดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ ก่อนที่จะค่อยๆ กระจายไปติดเชื้ออวัยวะอื่นๆ ในอุ้งเชิงกราน
  • มีการใส่ห่วงอนามัย อุปกรณ์คุมกำเนิด หรือการใส่เครื่องมือแพทย์บางอย่าง
  • มีประวัติการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน หรือมีคู่นอนที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนหลายคนโดยไม่สวมถุงยางอนามัย
  • ผู้หญิงที่ทำการสวนล้างช่องคลอดบ่อยๆ นั้นทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ดีและชนิดที่เป็นอันตรายในบริเวณช่องคลอด

อาการของ ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

อาการของภาวะนี้อาจจะยังไม่มีแสดงให้เห็นในช่วงแรกที่ติดเชื้อแล้ว แต่ถ้าหากมีการลุกลามของเชื้อแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น ก็อาจมีอาการ ดังต่อไปนี้

  • ปวดแสบขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะขัด
  • คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง
  • มีตกขาวผิดปกติ มีหนอง หรือมีกลิ่นเหม็น
  • ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว
  • รู้สึกเวลามีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกทั้งที่ไม่ได้มีประจำเดือน
  • รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย ด้านขวา หรือทั้งสองข้าง โดยอาจปวดเป็นระยะแล้วก็หายไป หรือปวดต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน

การตรวจวินิจฉัย ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

เมื่อคุณไปพบแพทย์เฉพาะทาง นอกจากการซักประวัติเบื้องต้นแล้ว แพทย์อาจเลือกใช้หลายวิธีในการตรวจประกอบกัน เพื่อให้แน่ใจว่าคุณมีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบจริงๆ ได้แก่

  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภายใน
  • การตรวจในห้องปฏิบัติการ
  • การตรวจอัลตราซาวน์
  • การผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง
  • การสุ่มตัดชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูก

ขั้นตอนการรักษาภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

หากผู้ป่วยที่มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบยังมีอาการที่ไม่รุนแรง แพทย์จะใช้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ชนิดรับประทาน แต่หากยาชนิดทานไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร แพทย์จะพิจารณาใช้การรักษาแบบอื่นที่เหมาะสมกับความรุนแรงของโรคต่อไป เช่น การปรับรูปแบบยาที่ทาน การฉีดยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น แต่หากไม่รีบทำการรักษาอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ระหว่างที่มีอาการอุ้งเชิงกรานอักเสบอยู่ ได้แก่

  • ทำให้มีบุตรยากหรือเป็นหมัน หรือมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังเป็นระยะเวลายาวนานและทรมาน ใช้ชีวิตประจำวันลำบาก
  • เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน อาจมีฝีหนองคั่งเป็นก้อน บริเวณปีกมดลูกและอวัยวะอื่นๆ ในอุ้งเชิงกราน มีโอกาสที่ฝีจะแตกได้

การดูแลตัวเองในระหว่างทำการรักษาภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

การปฏิบัติตัวในระหว่างที่ยังรักษาโรคนี้อยู่ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณหายขาดจากภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบได้เร็วยิ่งขึ้น ด้วยการ :

  • งดมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด จนกว่ากระบวนการรักษาจะเสร็จสิ้น
  • ควรมีการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมด้วย
  • ชวนคู่นอนของคุณมาตรวจและรักษาไปพร้อมกัน เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้เช่นกัน

วิธีป้องกันภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

วิธีป้องกัน ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

ส่วนใหญ่แล้ว ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เราจึงควรใส่ใจในเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อที่จะได้สามารถป้องกันตัวเองได้ ดังต่อไปนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เมื่อมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับใครก็ตาม
  • เลือกใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยการทานยาเม็ด หรือยาฉีด แทนการใช้ห่วงคุมกำเนิด
  • ไม่ทำการสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบ และสมดุลของธรรมชาติเปลี่ยน
  • ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ หรือมีคู่นอนประจำที่รู้จักกันดีว่าไม่มีประวัติความเสี่ยงโรคจากที่ใด
  • หากสังเกตพบความผิดปกติของอวัยวะเพศ ให้รีบปรึกษาแพทย์ และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
  • หมั่นไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจโรคเป็นประจำ หรือเมื่อมีความเสี่ยง และสงสัยว่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะการเริ่มรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบได้

อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจที่นี่

แม้ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ จะเป็นเพียงการติดเชื้อชนิดหนึ่ง ที่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าคุณมีความเสี่ยง และสามารถรักษาได้ ด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการอยู่ในระดับเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็ไม่ควรประมาท และปล่อยทิ้งไว้นาน ไม่ไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้ในอนาคต และทำให้กระบวนการรักษาเกิดความยุ่งยากได้ครับ